ศิลปะในการโต้ตอบหนังสือราชการ

31 มี.ค. 2564, 02:44 น.
661
ศิลปะในการโต้ตอบหนังสือราชการ

อบจ.นครสวรรค์ จัดอบรมบุคลากร เพิ่มพูนความรู้ด้านการเขียนหนังสือราชการที่ดี รุ่นที่ 1 หัวข้อ "หลักการและศิลปะในการเขียน/โต้ตอบหนังสือราชการ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 31 มีนาคม 2564 พลตำรวจเอกสมศักดิ์  จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาบุคลากรสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 หลักสูตร “การเพิ่มพูนความรู้ด้านการเขียนหนังสือราชการที่ดี” ในหัวข้อ"หลักการและศิลปะในการเขียน/โต้ตอบหนังสือราชการ" ณ หอประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วย นายมานพ บุญผสม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ นายเชิดพันธุ์ มาศรี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ นางสุดฤทัย  เศรษฐนันท์  รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์  พลตำรวจตรีวิฑูรย์ คลังพลอย ที่ปรึกษานายก อบจ.นครสวรรค์ ร้อยตำรวจโทพิทักษ์ พันธ์งิ้ว เลขานุการนายก อบจ.นครสวรรค์ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างเข้าร่วมการประชุมอบรม

โดยมีนายไกรสิน ศิลปาจารย์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน โครงการดังกล่าวฯ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการที่ถูกต้องให้กับบุคลากรในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เกี่ยวกับระบบงานสารบรรณ การเขียนหนังสือราชการและการบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อให้บุคลากรได้พัฒนาทักษะในการเขียนหนังสือราชการ และสามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ข้าราชการลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างในสังกัดฯ จำนวน 80 คน

โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิคือ นางสาวบุญช่วย  แสงตะวัน  ข้าราชการบำนาญ วิทยาลัยกรมการปกครอง มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่องความสำคัญของหนังสือราชการ หลักการเขียนหนังสือราชการที่ถูกต้องตามระเบียบงานสารบรรณ สำนวนและภาษาที่ใช้ในราชการที่ถูกต้อง รวมถึงฝึกปฏิบัติในเรื่องของเทคนิคการร่างหนังสือราชการ

ทั้งนี้ พลตำรวจเอกสมศักดิ์  จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ยังเน้นย้ำกับบุคลากรในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ให้ดำเนินงานด้านธุรการด้วยความถูกต้อง และปฏิบัติตามระเบียบงานสารบรรณ เพื่อลดข้อผิดพลาดในเรื่องของงานธุรการ และขอให้ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าฝ่าย อ่านและตรวจสอบตรวจดูหนังสือก่อนเสนอถึงผู้บังคับบัญชาทุกครั้ง และเน้นย้ำในเรื่องของวิธีการเขียนหนังสือราชการที่ถูกต้อง ควรรัดกุม ชัดเจน เข้าใจง่าย ถูกต้องตามหลักภาษา เพื่อลดข้อผิดพลาดของหนังสืออีกด้วย เป็นการป้องกันความผิดพลาดในการสื่อสารระหว่างองค์กร และเพื่อความคล่องตัวในการประสานงาน