นายก อบจ.ยกทีมเข้าวัดไทร นครสวรรค์ตก ดูปัญหาคลองหาย น้ำเอ่อเขตเศรษฐกิจ หาทางทำคลอง ก่อนปิดจ๊อบ เฟส 1 ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน ต่อเฟส 2 ปี 66
เมื่อเวลา 14:30 น วันที่ 23 มีนาคมนี้ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยพลตำรวจตรีวิฑูรย์ คลังพลอย ที่ปรึกษานายกอบจ. ร้อยตำรวจโทพิทักษ์ พันธุ์งิ้ว เลขานุการนายกอบจ. นายณรงค์ พนมวัน ประธานสภาอบจ. นายวสันต์ เสียงเรืองแสง เลขานุการสภาอบจ. นายวิทูร เจริญชัยฤทธิ์ สมาชิกสภาอบจ. เขต 4 อำเภอเมืองนครสวรรค์ นายนิมิต ยืนยง ผู้อำนวยการกองช่างอบจ.พร้อมคณะช่าง อบจ. เดินทางเข้าพื้นที่ อบต.บ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์ โดยมีนายพิทักษ์ ตั้งแต่งนายกอบต.บ้านแก่ง นางเฉลา ผกาแก้ว นายกอบต.วัดไทรย์ และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกัน อธิบายสภาพปัญหา ความเดือดร้อน และความต้องการที่จะให้ทางอบจ.นครสวรรค์ช่วยเหลือแก้ไข หลังจากนั้น จึงเดินทางเข้าพื้นที่ เพื่อตรวจสอบดูสภาพจริงว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร
จุดที่ 1 พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์และคณะ เดินทางไปที่คลองขนมจีน ต.บ้านแก่ง ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ และมีความยาวหลายกิโลเมตร โดยส่วนหนึ่งจะมีคลองซอย แยกเข้าไปยังพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ทางกลุ่มชาวบ้านต้องการให้อบจ.ช่วยสร้างประตูน้ำ บริเวณปากทางแยกคลองซอยจากคลองขนมจีน เพื่อจะได้สามารถเปิด-ปิดน้ำที่จะเข้ามายังพื้นที่ทำการเกษตรได้
จุดที่ 2 นายกอบจ.และคณะเดินทางไปที่ คลองขนมจีนบริเวณใต้ทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ ระหว่างหมู่ 1 บ้านวังกะทะ กับหมู่ 11 บ้านเนินกว้าว ตำบลวัดไทร ซึ่งตรงจุดนี้ เป็นจุดที่มีน้ำไหลมาจากคลองขนมจีนจำนวนมาก และน้ำส่วนหนึ่งจะเอ่อล้นไปท่วมเขตเศรษฐกิจของตำบลวัดไทร ตำบลบ้านแก่ง ชาวบ้านต้องการให้ทางอบจ.นครสวรรค์ช่วยจัดทำคลอง เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำจากคลองขนมจีนที่ไหลเอ่อล้นมา ไปลงแม่น้ำปิงจะลดปัญหาน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจพื้นที่ตำบลบ้านแก่ง ตำบลวัดไทร
ในเรื่องนี้พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์แจ้งว่า จะจัดส่งช่างเข้ามาทำการสำรวจร่วมกับอบต. และจะทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมทางหลวงก่อน แล้วจึงจะสามารถออกแบบคลองได้ว่าจะมีความกว้าง ความลึกได้เท่าไหร่ จึงจะสามารถคำนวณงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ก่อนที่จะทำให้ถูกต้องตามระเบียบต่อไป
จุดที่ 3 คณะของพลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์เดินทางไปที่หมู่ 11 บ้านเนินกว้าว มีฝายเหล็กเก่า ของหลวงพ่อสว่าง วัดหาดทรายงาม ที่สร้างไว้นานแล้ว และชาวบ้านได้อนุรักษ์ฝายไว้ ในบริเวณจุดนี้เป็นจุดที่น้ำเปลี่ยนเส้นทาง และชาวบ้านได้ทำฝายน้ำล้นเป็นคันดินกั้นน้ำไว้ ชาวบ้านจะขอให้ทางอบจ. ช่วยทำฝายน้ำล้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อจะได้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ส่วนหนึ่งเพื่อทำการเกษตรและอีกส่วนหนึ่งเป็นการลดปริมาณน้ำที่จะไหลไปท่วมไปในเขตเศรษฐกิจได้
จุดที่ 4 คณะของนายกอบจ. เดินทางไปต่อไปที่คลองท่าน้ำตกหรือคลองโพธิ์ ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อจากคลองขนมจีน ที่จุดนี้เป็นพื้นที่คลองที่แคบลงและตื้นเขิน ชาวบ้านขอให้ทางอบจ.ช่วยขุดลอกคลองให้ลึกลง ขยายคลองให้กว้างขึ้น รวมทั้งขอทำฝายน้ำล้นด้วย ซึ่งที่จุดนี้ นายกอบจ.แจ้งว่า ให้ทางอบต. ร่วมกับกองช่างอบจ.ทำการสำรวจ และพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งลงหลักปักเขตที่จะขยายคลอง และขอให้มีที่ทิ้งดินที่ขุดลอกคลองขึ้นมา ส่วนฝายน้ำล้น จะสำรวจอีกครั้งว่า จะลงในจุดใดที่เป็นความสะดวกของชาวบ้านในพื้นที่ที่จะทำการเกษตร
จุดที่ 5 คณะของพลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ เดินทางไปที่คลองโพธิ์ หมู่ 13 ตำบลวัดไทร ซึ่งมีประตูน้ำ เป็นลักษณะท่อระบายน้ำ ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันในช่วงฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการให้ทางอบจ.รื้อประตูน้ำที่เป็นท่อระบายน้ำออก และขอให้สร้างใหม่เป็นประตูน้ำแบบประตูน้ำเหล็ก ให้มีขนาดกว้างใหญ่กว่าเดิม เพื่อจะได้สามารถระบายน้ำได้ทันในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำก็จะไม่เอ่อล้นเข้าท่วมในเขตเศรษฐกิจ นายกอบจ.แจ้งว่าจะจัดส่งช่างมาทำการสำรวจร่วมกับทางอบต.และออกแบบประตูน้ำเหล็ก ให้มีขนาดกว้างขึ้น ใหญ่ขึ้นและสามารถระบายน้ำได้มากขึ้น
จุดที่ 6 คณะของนายกอบจ.เดินทางไปที่สะพานคลองโพธิ์ ซึ่งมีคลองมาตลอดระยะทาง แต่เมื่อมาถึงสะพานคลองโพธิ์ ถนนพหลโยธิน บริเวณหมู่ 13 ตำบลวัดไทร ที่เชื่อมต่อกับหมู่ 10 ตำบลนครสวรรค์ตก ปรากฏว่าคลองแห้ง ตื้นเขิน ลำคลองหายไปกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ทำให้น้ำที่ไหลมาไม่มีทางไป จึงไหลเอ่อล้นท่วมกระจายไปทั่วในพื้นที่ดังกล่าว
การแก้ไขปัญหา นายกอบจ.มอบหมายให้นายสมชาย ฉิมปาน สมาชิกสภาอบจ. เขต 3 อำเภอเมืองนครสวรรค์ ประสานงานกับทางอบต.นครสวรรค์ตกและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อขอคืนพื้นที่ลำคลองโดยทางอบจ.จะขุดลอกให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก น้ำก็จะไม่เอ่อล้นท่วมในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และจะทำฝายน้ำล้นเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ในการทำการเกษตรได้ในหน้าแล้ง
จุดที่ 7 คณะของพลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์เดินทางไปที่สะพานคลองน้ำซึม ถนนพหลโยธิน ระหว่างหมู่ 13 ตำบลวัดไทร กับหมู่ 8 ตำบลนครสวรรค์ตก ที่สะพานคลองน้ำซึม มีคลองน้ำไหลลอดใต้สะพานมาจากหมู่ 13 ตำบลวัดไทรย์ เมื่อเข้าไปในพื้นที่หมู่ 8 ตำบลนครสวรรค์ตก ลำคลองแห้ง ตื้นเขิน และไม่มีสภาพลำคลอง กลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน
ในจุดดังกล่าวนี้เคยเป็นจุดที่มีคดีความกันอยู่ แต่ทางอบจ.ไม่ได้เข้ามาในเรื่องของคดีความ ทางอบจ.เข้ามาเพื่อจะขอคืนลำคลองและจะลอกคลองให้ยาวต่อไปอีก 5 กิโลเมตร เพื่อน้ำจะได้ไหลต่อไปถึงหมู่ที่ 9 ตำบลนครสวรรค์ตก ชาวบ้านจะได้มีน้ำใช้ในการทำการเกษตร และน้ำส่วนหนึ่งที่ไหลเอ่อล้นมาในฤดูน้ำหลาก ก็จะไหลลงคลองวังไผ่ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นการลดปัญหาน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจได้ด้วย
สุดท้ายพลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการศึกษา และวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เริ่มดำเนินการมาเป็นระยะเวลาเดือนกว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ว่า ที่ทางอบจ.นครสวรรค์เข้ามาดำเนินการในเรื่องน้ำเนื่องจาก สภาพเศรษฐกิจสังคม และสภาพฝนฟ้าอากาศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งให้ชาวบ้าน รวมไปถึงเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำทำการเกษตร อันส่งผลไปถึงการดำรงชีวิต และการมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ซึ่งในบางพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ดื่มน้ำใช้และน้ำทำการเกษตร มาอย่างยาวนานตั้งแต่ 2 ปีถึง 6 ปี ตนเองและคณะสมาชิกสภาอบจ.นครสวรรค์ จึงร่วมกันลงพื้นที่ 36 เขต ใน 15 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งได้ประสานงานความร่วมมือกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. สมาชิกสภาอบต. ร่วมกันศึกษาปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาน้ำ เพื่อให้ชาวบ้าน ได้มีน้ำดื่ม มีร้านใช้มีน้ำทำการเกษตร อันจะส่งผลให้ มีงานทำ มีอาชีพมีรายได้ ทุกคนจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในวันนี้ถือว่าเป็นการสิ้นสุด เฟสที่ 1 ในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ
พลตำรวจเอกสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า "ขั้นตอนต่อไปก็คือ จะต้องทำการสำรวจ ออกแบบพร้อมทั้งนำเข้าสู่แผนปฏิบัติการของอบจ.เพื่อนำเสนอเข้าสู่สภา อบจ. ออกข้อบัญญัติในการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละโครงการ ที่สำรวจและจัดทำต่อไป โดยการสำรวจออกแบบ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564 โครงการส่วนหนึ่ง เป็นโครงการที่เพิ่มเติมในแผนปีงบประมาณ 2564 สำหรับอีกส่วนหนึ่งในโครงการที่เหลือจะจัดเข้าในแผนงบประมาณปี 2565 เพื่อเข้าสู่กระบวนการในการจ้างเหมา ดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าโครงการส่วนหนึ่งจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2565 ในอีกส่วนที่เหลือจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2566 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ"
"โครงการส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการขุดอ่าง ขุดสระเก็บน้ำ ขุดแก้มลิง การลอกคลอง การทำฝายน้ำล้น การทำประตูน้ำ รวมไปถึงการสูบน้ำผ่านเข้าท่อระบายน้ำไปยังพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อทำประปาหมู่บ้าน รวมทั้งการขุดคลอง ทำประตูน้ำ ปัดเส้นทางน้ำลงแม่น้ำสายหลักเพื่อป้องกันน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจ ซึ่งในทุกโครงการเมื่อแล้วเสร็จจะมีการตรวจติดตามประเมินผล เพื่อวางแผนที่จะดำเนินการต่อยอดในโครงการเฟสที่ 2 ต่อไป ในปีงบประมาณ 2566 ทั้งนี้ ทางอบจ.นครสวรรค์มีความคาดหวังว่า เมื่อโครงการทุกโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ชาวบ้านจะมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" นายก อบจ.นครสวรรค์ กล่าวในที่สุด