ติวเข้มศูนย์ เศรษฐกิจพอเพียง

17 มิ.ย. 2564, 02:35 น.
232
ติวเข้มศูนย์ เศรษฐกิจพอเพียง

อบจ.นครสวรรค์เอาจริง เดินหน้าจัดระบบในศูนย์การเรียนรู้ฯ ให้สวนกุหลาบฯร่วมศึกษา พัฒนาระบบการผลิตด้วย นวัตกรรม เทคโนโลยี  5 ด้าน

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ที่ห้องประชุมศูนย์ข้อมูล องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในการประชุมคณะครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ เพื่อติดตามความคืบหน้าแนวคิดการฟื้นฟูศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านทุ่งแว่น ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พลตำรวจตรีวิฑูรย์ คลังพลอย ที่ปรึกษานายกอบจ. นางสุดฤทัย เศรษฐนันท์ รองนายกอบจ. สิบเอกพิทยา นาคกุญชร รองปลัดอบจ.นครสวรรค์ จ่าเอกเอกราช กะระกล ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ดร.อร่าม วัฒนะ ผู้อำนวยการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม นางกาญจนา ไชยพรม ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม นางวรรณา ประสมพงษ์ รอง.ผอ.โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ดร.ศรินทิพย์ กริมเขียว และนายพฤษศา สิทธิไพศาล อาจารย์หมวดวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

สืบเนื่องจากการที่พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ มอบหมายให้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ ร่วมหาแนวคิดการฟื้นฟูศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านทุ่งแว่น โดยนายกอบจ.ให้แนวคิดการนำนักวิชาการ หรือปราชญ์ชาวบ้านมาร่วมให้คำแนะนำ ในแต่ละด้าน โดยอาศัยใช้เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนร่วม  เพราะการทำการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ตามวิถีแบบเดิมพื้นที่อาจจะไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงการใช้พื้นที่น้อย ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด และนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ และนักเรียนได้ประโยชน์ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง ทำการศึกษาพัฒนาวิธีการดำเนินการเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิต การแปรรูป จนสามารถนำไปประกอบอาชีพด้วยตนเองได้

 

รวมทั้งจะต้องมีการศึกษาและพัฒนาฟื้นฟูสภาพดิน เพราะที่ผ่านมาดินในประเทศไทยเกิดการปนเปื้อนสารเคมี อันจะส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ปนเปื้อน ประกอบกับยุคปัจจุบันประชาชนทั่วโลกสนใจเรื่องอาหารสะอาดเพื่อสุขภาพมาก และพืชที่จะนำไปประกอบเป็นอาหารทั้งของมนุษย์และสัตว์จะต้องสะอาด ไม่ปนเปื้อนสารเคมี จะสามารถจัดจำหน่ายได้ราคาดีในตลาดโลก

 

นอกจากจะทำด้านเกษตร  ด้านประมง และด้านปศุสัตว์แล้ว จะต้องร่วมกันเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างความน่าสนใจ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่จะให้ สจ.นำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไปหรือนำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะได้ เช่น พันธุ์ปลา พันธุ์กุ้ง และพันธุ์พืช

 

โดย ดร.ศรินทิพย์ กริมเขียว ได้เสนอแนวทางในส่วนของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ แบ่งเป็น 5 ด้าน ดังนี้ คือ 

 

1.ด้านการเกษตร  ศึกษาเรียนรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีในการเกษตร การปลูกผัก สมาร์ทฟาร์เมอร์ (Smart Farmer) โดยการนำผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ และจะประสานทำ MOU กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ โดยทางโรงเรียนจะสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และการตลาดออนไลน์

 

 2.ด้านประมง โดยนำเทคโนโลยี “Aqua-IoT”  ซึ่งเป็นระบบติดตามแจ้งเตือนสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ด้วยเทคโนโลยี Aqua - loT ในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่จะช่วยในการเฝ้าระวัง ส่งเสริมศักยภาพในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และวางแผนป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น จากสภาวะต่าง ๆ ในบ่อเลี้ยงได้ โดยเฉพาะในการเพาะเลี้ยงกุ้งและปลากะพง สัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

 

3.ด้านปศุสัตว์ โดยยกระดับปศุสัตว์ให้เป็น Smart Farm ด้วย Animal Tag หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Animal ID” โดย Animal ID คือไมโครชิพสำหรับระบุตัวตนของสัตว์ เป็นการบอก ID หรือหมายเลขเฉพาะตัวของสัตว์ตัวนั้นๆ  จะช่วยให้สามารถจดจำและจำแนกสัตว์แต่ละตัวได้ เนื่องจากการจำแนกจากลักษณะภายนอกคงเป็นเรื่องยาก รวมทั้งยังช่วยเก็บเป็นฐานข้อมูลของสัตว์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโต

 

4.ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยการสร้างระบบนิเวศ เริ่มจากการศึกษาดิน นำเทคโนโลยีเข้ามาตรวจวัดค่าดิน ค่าน้ำ เพื่อบูรณาการทางธรณีกับสิ่งแวดล้อม และชีวภาพ เพื่อสร้างความตระหนักในสิ่งแวดล้อม และสร้างมัคคุเทศก์น้อย ซึ่งจะฝึกนักเรียน จากภาษาไทยก่อน เพื่อให้มีทักษะ ก่อนจะเพิ่มภาษาจีน และภาษาอังกฤษ เข้าไปเพื่อให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้

ด้านภูมิทัศน์ จะทำป้ายบอกรายละเอียดโดยใช้ระบบสแกน(Scan) QR Code  เพื่อบริการนักท่องเที่ยวที่นิยมสืบค้นข้อมูลสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวจากอุปกรณ์สมาร์ทโฟน (Smart Phone)  เพื่ออำนวยความสะดวกด้านข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยว กรณีที่ต้องการปรับปรุงข้อมูลต่างๆ ให้ทันสมัยก็สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งนอกจากจะสะดวกและรวดเร็วแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำป้ายและติดตั้งป้ายใหม่อีกด้วย

 

5.ด้านการพัฒนาป่าไม้ จะส่งเสริมกิจกรรมศึกษาระบบนิเวศ (เส้นทางศึกษาธรรมชาติ) กิจกรรมศึกษาด้านพันธุ์ไม้ และกิจกรรมปลูกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม  โดยจะนำเทคโนโลยีระบบเซนเซอร์ เพื่อหาค่าความเหมาะสมของดินในการปลูกพืชแต่ละชนิด และจะทำการพลิกฟื้นผืนดินให้เป็นพื้นที่การผลิตพืชผักที่ปลอดสารเคมี

 

นายกอบจ.กล่าวว่า "ที่ผ่านมาชาวบ้านใช้ประสบการณ์การทำเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ในรูปแบบเดิม จึงจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตด้วยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ และก้าวกระโดดกว่าท้องตลาดทั่วไป เป็นการนำร่องทางด้านการเกษตรอีกทางหนึ่ง"